ออกแบบบ้านชั้นเดียว เราจะเริ่มต้นอย่างไร คำถามนี้คงมีในความคิดของใครหลายๆคนที่ใฝ่ฝันมีบ้านหลังน้อย เพราะบ้านชั้นเดียวเป็นบ้านที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ อาจจะเพราะเป็นบ้านที่มีราคาก่อสร้างไม่มากนัก เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มต้นสร้างครอบครัว หรือไม่ได้ต้องการบ้านหลังใหญ่โตมาก และสำหรับวัยรุ่นที่เริ่มทำงาน อาจจะอยากได้บ้านหลังแรกที่เป็นสไตล์ในแบบของตนเอง วันนี้ amateurhomeowner จึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวการออกแบบบ้านชั้นเดียวมาให้ได้เรียนรู้กัน
ออกแบบบ้านชั้นเดียว มีอะไรที่ควรรู้
บ้านชั้นเดียวนั้นจะให้บรรยากาศและการใช้สอยที่แตกต่างจากบ้านหลายชั้น ทั้งในเชิงของภายในและพื้นที่ภายนอก ในแง่ของบรรยากาศและความรู้สึกที่เกิดขึ้น เช่น ความอบอุ่น ความเป็นกันเอง การต้อนรับเชื้อเชิญ ความน่าอยู่ ความใกล้ชิด เหล่านี้ บ้านชั้นเดียวจึงตอบโจทย์ความรู้สึกได้ตรงใจที่สุด
นอกเหนือจากความสัมพันธ์เหมาะสมในเรื่องของประโยชน์ใช้สอยแล้ว การกำหนดอาณาบริเวณตามหลักวิธีสถาปัตยกรรม อันได้แก่ บริเวณภายนอก บริวณกึ่งภายนอก บริเวณสาธารณะ บริเวณสัญจร บริเวณส่วนตัว ฯ ซึ่งต้องคำนึงถึงมากเป็นพิเศษ เพราะบริเวณบ้านและห้องทุกห้องอยู่ในชั้นเดียวกัน

เราจะเน้นว่าจะต้องเข้าทางโรงรถได้ง่ายจากภายนอก จะต้องขนของเข้าสู่ครัว หรือเพื่อนฝูงแขกเหรื่อควรเข้าห้องรับแขกได้ง่าย และมีสัดส่วนบริเวณสัญจรก็ควรกว้างขวางพอที่จะไปยังส่วนต่างๆ ของบ้าน ส่วนของห้องนอน ซึ่งถือว่าเป็นบริเวณส่วนตัว ตำแหน่งก็มักจะอยู่ด้านในสุดของตัวบ้าน หรือในบริเวณที่เห็นได้ยากจากบริเวณรับแขก พักผ่อน และนี่คือหลักการง่ายๆ ขั้นต้น
การออกแบบระดับและรูปร่างของบ้านชั้นเดียว ในทางปฏิบัติหลังจากที่ตัวบ้านก่อสร้างเสร็จ และเข้าอยู่แล้ว ห้องที่ว่าเป็นสัดส่วนตามหลักการนั้น อาจจะไม่เป็นสัดส่วนเมื่อมองจากภายนอก เพราะจะเกิดความรู้สึกไม่ส่วนตัวเมื่อมีคนเดินรอบบ้าน เพราะมีชั้นเดียว ซึ่งตามหลักแล้วระดับหน้าต่างตามปกติควรสูงจากพื้นห้อง ประมาณ 0.90 เมตร ระดับพื้นบ้านชั้นเดียวควรยกสูงจากพื้นดินอย่างน้อย 0.6-1.20 เมตร เมื่อรวมกับระดับหน้าต่างแล้วจะเท่ากับ 1.50-2.10 เมตร ซึ่งจะพ้นสายตาระดับปกติ
นอกจากนี้ ระดับประตูหน้าต่างและการตกแต่งด้วยม่าน ก็ช่วยได้มากในความรู้สึกปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว จะเห็นว่าความรู้สึกนี้สามารถสร้างขึ้นมาได้ และเป็นจริงได้ในเชิงปฏิบัติ โดยจะออกแบบห้องนอนให้ยกระดับพื้นสูงขึ้นมาจากระดับพื้นห้องอื่นๆ ในระดับของบ้านชั้นเดียวกัน เรียกว่า เล่นระดับ นอกจากจะช่วยเรื่องความรู้สึกเป็นสัดส่วนแล้ว ยังทำให้ลีลาของตัวบ้านสวยงามน่าสนใจ ดูมีลูกเล่นมากยิ่งขึ้น

อีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึง คือ ความร้อนจากหลังคา ที่มีผลโดยตรงต่อบ้านชั้นเดียว เรื่องนี้เป็นสภาวะปกติ แต่ด้วยเทคโนโลยีและวัสดุกันความร้อนในปัจจุบัน ช่วยแก้ปัญหานี้ได้มากแล้ว เช่นเดียวกับการวางผังอาคารให้รับลมหลบแดด ก็มีส่วนช่วยได้เป็นทวีคูณ ซึ่งก็คงจะเป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้สำหรับการออกแบบ
แต่ความกังวลที่ยังมีอยู่ คือ การสะท้อนความร้อนจากพื้นหรือถนนภายในบริเวณที่ดินเข้าสู่ตัวบ้าน ซึ่งจะทำให้ห้องต่างๆ ร้อนนั่นเอง กรณีนี้เป็นกับอาคารแทบทุกประเภท สำหรับบ้านชั้นเดียวจะได้รับผลกระทบมากหน่อย เพราะไม่มีชั้นบนสำหรับหลบเลี่ยง ดังนั้น การหลบเลี่ยง ก็คือ การออกแบบหลังคาคลุมบริเวณลาน เฉลียง ระเบียง การออกแบบผนังห้องให้ไม่รับแสงสะท้อน หรือสามารถกันแสงสะท้อนได้โดยตรง

บ้านชั้นเดียวในปัจจุบันจึงมีรูปทรงร่วมสมัย เป็นการผสมผสานระหว่างการออกแบบที่ทันสมัยของรูปทรงตัวบ้าน และการใช้วัสดุที่มาจากธรรมชาติอย่างเช่น ไม้ เป็นโครงสร้างหลัก และใช้กระจกเป็นผนังในบางส่วน หรือ ใช้กระจกรอบตัวบ้าน เพื่อให้แสงสว่างส่องเข้ามาภายในบ้านได้อย่างทั่วถึง ทำให้ภายในบ้านดูโปร่งโล่งสบาย และยังรับชมทัศนยีภาพภายนอกได้อย่างเต็มที่ เปิดรับลมได้รบตัวบ้าน เพื่อระบายอากาศที่ร้อน หรือไว้รับลมหนาว ประกอบกับการยกระดับหลังคาให้สูงเพื่อความโปร่งโล่ง และดูไม่อึดอัด และเพิ่มมุมมองให้บ้านชั้นเดียวดูกว้างเหมือนมีพื้นที่มากขึ้น
สำหรับวันนี้ amateurhomeowner หวังว่าหลักการออกแบบบ้านชั้นเดียวด้วยตนเองอย่างง่าย จะช่วยให้ท่านสามารถจัดสรรพื้นที่ พร้อมกับวาดผังแปลนภายในบ้านด้วยตนเอง เพื่อนำแปลนดังกล่าวไปให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง หรืออาจส่งต่อให้สถาปนิกเขียนแบบแปลนมาตรฐาน เพื่อจะได้นำไปต่อยอดเป็นแปลนบ้านใช้งานจริงสร้างบ้านในฝันกันต่อไป แต่หากใครยังอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม เชิญรับชมได้ที่นี่
แหล่งที่มาของภาพ
https://www.naibann.com/97-sqm-cozy-single-storey-contemporary-house-plan-by-stacked-panda/
https://www.pinterest.com/pin/847521223598148968/
บทความที่อาจสนใจ บ้านดั่งใจฝันด้วยการ ออกแบบบ้าน